เฉลยแล้ว! อุทัยทิพย์ ทำมาจากอะไร เอามาทาปากทาแก้มแล้วอันตรายมั้ย
เรียกว่าเป็นไอเทมติดกระเป๋าของเหล่าวัยรุ่นยุค 90 ตลอดจนยุค Y2K เลยทีเดียว สำหรับ น้ำยาอุทัย หรือ อุทัยทิพย์ ที่นอกจากจะผสมน้ำเพื่อดื่มแล้ว มันยังสามารถนำมาทาปากทาแก้มให้แดง เพิ่มสีสันให้ใบหน้าได้อีกด้วยนะ
ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะเกิดความสงสัยว่า จริงๆ แล้ว น้ำยาอุทัย หรือ อุทัยทิพย์ นั้นนอกจากจะเอามาผสมน้ำเพื่อดื่มแล้ว การเอามาใช้แต่งหน้าจะเกิดอันตรายหรือไม่ โดย Sanook Campus เราก็ได้ไปหาคำตอบมาให้เพื่อนๆ แล้ว
น้ำยาอุทัย หรือ อุทัยทิพย์ จัดเป็นยาแผนโบราณ และยาสามัญประจำบ้าน มีสรรพคุณในการบำรุงเลือด บำรุงหัวใจ แก้กระหาย แก้ร้อนใน ช่วยให้รู้สึกสดชื่น สามารถนำอุทัยทิพย์มาผสมลงในน้ำเย็น และหลายๆ คนยังนิยมนำน้ำยาอุทัยมาใช้ในการเติมสีสันให้กับใบหน้าทั้งริมฝีปากและแก้มได้อีกด้วย
ส่วนประกอบของน้ำยาอุทัย
- ฝาง - ส่วนประกอบหลักของน้ำยาอุทัย ที่ทำให้น้ำยาอุทัยเป็นสีแดง ฝางช่วยบำรุงโลหิต บางคนต้มน้ำดื่มเพื่อช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติด้วย
- ดอกพิกุล - ให้รสเย็น ช่วยลดไข้ บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ และลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ดอกมะลิ - ให้รสเย็นชื่นใจเช่นเดียวกัน บำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- หญ้าฝรั่น - หญ้าฝรั่นช่วยลดไข้ บำรุงเลือด บำรุงธาตุ และเป็นยาชูกำลัง
- ดอกสารภี - แม้ว่าดอกสารภีจะมีรสขม แต่ก็ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยให้เจริญอาหาร และบำรุงหัวใจ
- ดอกบุนนาค - ดอกบุนนาคเป็นอีกส่วนผสมที่มีรสขมนิดๆ ช่วยลดไข้ ขับลม แก้ตาพร่ามัว บำรุงธาตุ บำรุงโลหิตและบำรุงหัวใจ
- ดอกคำฝอย - ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด
- ดอกเก็กฮวย - ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยบำรุงหัวใจ
- เกสรบัวหลวง - เกสรดอกบัวอาจมีรสฝาดนิดๆ แต่ก็ช่วยบำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น และแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด
- อบเชย - อบเชยมีฤทธิ์ช่วยแก้อ่อนเพลีย บำรุงธาตุ และเป็นยาขับลม
- กฤษณา - มีสรรพคุณช่วยในการบำรุงโลหิต แก้ท้องร่วง และอาเจียน
- จันทน์แดง - ช่วยบำรุงเลือด
- โกศหัวบัว - ช่วยขับลม
- โกศเขมา - แก้โรคในปาก ในคอ แก้หอบ แบะช่วยขับลม
- โกศสอ - ลดไข้ แก้ไอ ช่วยขับลม และบำรุงหัวใจ
- โกศเชียง - ลดไข้ แก้ไอ ขับลม และช่วยบำรุงเลือด
น้ำยาอุทัย อันตรายหรือไม่?
จากส่วนผสมที่เน้นเรื่องการลดอุณหภูมิร้อนในร่างกาย ดังนั้นจึงไม่เหมาะในการนำมาดื่มมาทานช่วงฤดูหนาว หรือเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะแวดล้อมเย็นๆ ส่วนเรื่องทาปากทาแก้มแล้วจะเป็นอันตรายหรือไม่ น่าจะเป็นที่แต่ละบุคคลมากกว่า ว่าจะมีอาการแพ้ต่อส่วนผสมใดส่วนผสมหนึ่งในน้ำอุทัยหรือไม่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น