ฟรีสูตร แกงเห็ดเผาะใบมะขามอ่อน แกงคั่วเห็ดเผาะ 2 สูตรอาหารเลอค่ารับหน้าฝน
หน้าฝนแบบนี้อยากให้ลองชิมเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ เป็นเห็ดป่าหายาก เคี้ยวมัน กัดไปจะได้ยินเสียงดังเผาะเหมือนชื่อ กระปุกดอทคอมขอนำเสนอ 2 สูตรแกงเห็ดเผาะ ได้แก่ แกงเห็ดเผาะใบมะขามอ่อน แกงคั่วเห็ดเผาะ เป็นแกงเห็ดเผาะอีสาน หรือจะเอาไปทำแกงเห็ดเผาะใส่ผักหวาน แกงเห็ดเผาะใส่หน่อไม้ หรือต้มเกลือจิ้มกับน้ำพริก รวมทั้งเอาไปทำเมนูผัดเห็ดเผาะก็ยังได้ ยิ่งพูดยิ่งน้ำลายไหล ก่อนไปทำเมนูเห็ดเผาะมาทำความรู้จักกับเห็ดเผาะ การเลือกซื้อเห็ดเผาะ วิธีล้างเห็ดเผาะ และประโยชน์ของเห็ดเผาะกันหน่อยดีกว่าค่ะ
ลักษณะของเห็ดเผาะ
เห็ดเผาะ หรือชาวล้านนาเรียกว่า เห็ดถอบ ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Thai Puff Ball Mushroom แหล่งกำเนิดอยู่ในป่า ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีให้เก็บเฉพาะหน้าฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นอาหารพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ ทำเป็นเมนูต่าง ๆ ทั้งต้ม แกง และผัด เห็ดเผาะมีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ ไม่มีลำต้นและราก มีเปลือก 2 ชั้น โดยหากเป็นเห็ดอ่อนนั้นจะมีสีขาวนวล ห่อหุ้มด้วยสปอร์ แต่หากเป็นดอกแก่จะมีเปลือกเป็นสีน้ำตาลหรือดำ พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย
การเลือกซื้อเห็ดเผาะ
เห็ดเผาะที่สดจะต้องไม่แช่หรือล้างน้ำมาก่อน ถ้าใครชอบแบบเคี้ยวกรุบ ๆ ควรเลือกเห็ดอ่อน หรือเห็ดหนุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นเห็ดลูกเล็ก ๆ โดยมองที่เปลือกภายนอก สีจะออกขาว ๆ ไล่ไปจนถึงน้ำตาลอ่อน เคี้ยวแล้วไส้ในจะมีน้ำเห็ดไหลอยู่ในปาก ถ้าหากชอบแบบเนื้อเหนียวควรเลือกเห็ดแก่ ลูกจะใหญ่หน่อย นับเป็นระยะสุดท้ายของเห็ด เปลือกภายนอกสีจะออกน้ำตาลดำ เมื่อเอานิ้วบีบลงไปจะสามารถรู้สึกถึงความแข็งและเหนียวได้อย่างชัดเจน
การเก็บรักษาเห็ดเผาะ
ถ้าหากซื้อเห็ดเผาะมาแล้วยังไม่ทำอาหารอย่าเพิ่งล้างเพราะจะทำให้เห็ดเสียได้ง่าย ควรห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วแช่ตู้เย็นไว้ หรืออาจจะล้างทำความสะอาด เอาดินที่ติดอยู่ออกมาให้หมด จากนั้นจึงนำไปต้มในน้ำเกลือ ต้มจนสุกน้ำเดือดทิ้งไว้สักครู่ จากนั้นรีบตักเห็ดที่ยังร้อนอยู่ไปแช่ในน้ำเย็นจัดเพื่อความกรอบของเห็ด เอาขึ้นมาสะเด็ดน้ำ นำไปใส่ถุงพลาสติก แบ่งเก็บไว้หลาย ๆ ถุง แต่ละถุงพอกิน 1 มื้อ แช่ไว้ในช่องฟรีซเก็บไว้ได้นานค่ะ
วิธีการล้างเห็ดเผาะ
ถ้าซื้อมาปริมาณน้อยก็เอาไปล้างน้ำ โดยอาจหาภาชนะปิดฝา เขย่าไปเรื่อย ๆ จนดินออกหมด หรือเอาเห็ดเผาะใส่ตะกร้า เปิดน้ำก๊อกแรง ๆ ให้น้ำไหลผ่านเห็ด พวกทรายหรือกรวดก้อนเล็ก ๆ จะลอดตะกร้าพลาสติกออกไป เอามือสรงเบา ๆ ถ้าหากซื้อมาหลายกิโลฯ ก็เอาไปล้างในเครื่องซักผ้าก็ได้เช่นกัน โดยเปิดฝาไว้และใช้มือสรงน้ำไปด้วย พอสะอาดก็ตักขึ้นมาสะเด็ดน้ำ รอทำอาหารต่อไป
ประโยชน์ของเห็ดเผาะ
ช่วยในการบำรุงร่างกาย แก้อาการร้อนใน รักษาอาการช้ำใน ช่วยในการสมานแผล ลดอาการบวมหรืออักเสบ ช่วยให้เลือดแข็งตัวได้เร็ว
เอาล่ะ... เริ่มหิวกันแล้วใช่ไหมคะ มาเริ่มเข้าครัวทำเมนูแกงเห็ดเผาะกันเลยจ้า
1. แกงเห็ดเผาะใบมะขามอ่อน
เริ่มเมนูแกงเห็ดเผาะแสนอร่อยกันด้วยเมนูแกงเห็ดเผาะใบมะขามอ่อน สูตรนี้เด็ดตรงใส่น้ำซุปกระดูกหมูเพิ่มความกลมกล่อม ปรุงรสให้เปรี้ยวเผ็ดตามชอบ ทั้งนี้สามารถใส่ฟักทอง บวบ ข้าวโพดอ่อน หรือเห็ดชนิดอื่น ๆ เพิ่มตามชอบได้นะคะ
ส่วนผสม แกงเห็ดเผาะใบมะขามอ่อน
• พริกขี้หนูแดง (ตามชอบ)
• ตะไคร้หั่น
• หอมแดงซอย
• น้ำซุปกระดูกหมู
• น้ำตาลทราย (ปรุงรส)
• น้ำปลา (ปรุงรส)
• น้ำปลาร้า (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
• เห็ดเผาะ (หั่นครึ่งหรือไม่หั่นก็ได้)
• ใบมะขามอ่อน 1 ถ้วย
• น้ำมะนาว (ปรุงรส)
วิธีทำแกงเห็ดเผาะใบมะขามอ่อน
1. ตำพริกขี้หนู ตะไคร้ และหอมแดงพอหยาบ ๆ เตรียมไว้
2. ต้มน้ำซุปกระดูกหมูกับเครื่องที่โขลกไว้ พอเดือด
3. ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายกับน้ำปลา ชิมรสตามชอบ
4. พอน้ำเดือดอีกครั้งให้ใส่เห็ดเผาะลงไป รอจนเดือดอีกครั้ง หรือเห็ดสุกดี ปิดเตา ใส่ใบมะขามอ่อนลงไป ปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาว คนให้เข้ากัน ตักใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ
2. แกงคั่วเห็ดเผาะ
แค่เห็นภาพแกงคั่วเห็ดเผาะก็น้ำลายสอแล้วค่ะ สูตรนี้ใช้น้ำพริกแกงคั่วสำเร็จรูปผัดกับกะทิ ใส่เนื้อสัตว์หรือไม่ใส่ก็ได้นะคะ เพิ่มความหอมจากใบมะกรูดและชะอม ลองสักครั้งแล้วจะติดใจ
ส่วนผสม แกงคั่วเห็ดเผาะ
• น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
• น้ำพริกแกงคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
• กะทิ 500 กรัม
• ใบมะกรูดหั่นฝอย
• เห็ดเผาะ
• น้ำตาลปี๊บ (ปรุงรส)
• น้ำปลา (ปรุงรส)
• เนื้อย่าง (เนื้อหมู หรือเนื้อกุ้ง)
• ชะอมเด็ด 1 กำ
วิธีทำแกงคั่วเห็ดเผาะ
1. ผัดน้ำพริกแกงกับน้ำมันพืชในกระทะจนหอม
2. ใส่กะทิ ใบมะกรูดหั่นฝอย และเห็ดเผาะลงไปผัดให้เข้ากัน
3. ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บกับน้ำปลา ชิมรสตามชอบใจ
4. ใส่เนื้อย่างลงไป ตามด้วยชะอม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ
ว้าว ! ช่วงนี้เห็ดเผาะกำลังออกดอกเลยค่ะคุณขา ใครไปเดินตลาดเห็นพ่อค้าแม่ค้าขายก็ซื้อมาทำแกงเห็ดเผาะอร่อย ๆ กัน หนึ่งปีกินได้เพียงแค่ช่วงหน้าฝนเท่านั้น ถ้าพลาดปีนี้ต้องรอปีหน้านะคะ นานไปเนอะว่าไหม ?
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น